วันเสาร์ที่ 25 มิถุนายน พ.ศ. 2559

ดอกไม้ไหว้ครู




ดอกไม้ไหว้ครู มีดอกอะไรบ้าง

           ในพิธีไหว้ครูนั้น เพื่อเป็นการแสดงความระลึกถึงพระคุณครูที่ช่วยอบรมสั่งสอนศิษย์ ก็จะมีการทำพานดอกไม้ ซึ่งภายในพานดอกไม้ไหว้ครู นอกจากจะมีธูปเทียนแล้ว ยังมีข้าวตอก ดอกมะเขือ ดอกเข็ม และหญ้าแพรก ซึ่งเป็นของหาง่ายและมีความหมายดี ๆ ที่แฝงอยู่อีกด้วย 


ความหมายของดอกไม้วันไหว้ครู

    



ดอกเข็ม

          เป็นสัญลักษณ์แทนความแหลมคมประดุจเข็ม เปรียบดังสติปัญญาที่มีความเฉียบคมราวเข็ม ประหนึ่งเป็นอาวุธที่จะใช้ป้องกันตนได้ในทุกโอกาส ดังนั้น คนโบราณจึงถือเอาเป็นเคล็ดว่า ถ้าใช้ดอกเข็มไหว้ครู นอกจากมีสติปัญญาที่มีความเฉียบคมแล้ว จะทำให้ชีวิตมีความสดชื่นเหมือนรสหวานของดอกเข็ม 



ดอกมะเขือ

           เป็นสัญลักษณ์แทนความสะอาดบริสุทธิ์ของจิตใจ เป็นคนซื่อสัตย์ อ่อนน้อมถ่อมตนของลูกศิษย์ที่มีต่อครู ดังเช่นลักษณะของดอกมะเขือที่โค้งลง เหมือนเป็นการแสดงความอ่อนน้อมถ่อมตน ในขณะที่ดอกมะเขือดอกใดชี้ดอกขึ้นเหมือนดอกไม้ชนิดอื่น ดอกนั้นจะไม่ให้ผล เพราะจะเน่าร่วงหล่นไป เหมือนบุคคลที่ขาดความอ่อนน้อมถ่อมตน ขาดความเคารพก็จะหมดโอกาสที่จะได้รับการถ่ายทอดความรู้จากครู 


ข้าวตอก

            เป็นสัญลักษณ์ของความมีระเบียบวินัย หากใครสามารถทำตามกฎระเบียบ เอาชนะความซุกซนและความเกียจคร้านของตัวเองได้ บุคคลนั้นก็จะเป็นเหมือนข้าวตอกสีขาวที่ถูกคั่วออกจากข้าวเปลือก แต่หากใครที่ทำตามใจตนเอง โดยไม่สามารถควบคุมตัวเองได้ บุคคลนั้นก็จะเป็นเหมือนข้าวเปลือกที่ถูกคั่ว แต่ไม่มีโอกาสได้เป็นข้าวตอก 


หญ้าแพรก

           เป็นสัญลักษณ์แทนความเจริญงอกงามอย่างรวดเร็ว และความอดทน เพราะแม้ต้องอยู่ในพื้นที่แห้งแล้ง หรือโดนเหยียบย่ำ แต่หญ้าแพรกก็จะไม่ตาย แต่ถ้าได้รับน้ำเมื่อใด ก็จะเจริญงอกงามได้อีกครั้ง เช่นเดียวกับลูกศิษย์ ที่เมื่อได้รับการอบรมสั่งสอนจากครู ก็จะรับรู้และนำไปปฏิบัติให้เกิดผลดีต่อตนเองและสังคมต่อไป ดังนั้น คนโบราณจึงถือเอาเป็นเคล็ดว่า ถ้าใช้หญ้าแพรก ดอกมะเขือไหว้ครูแล้ว สติปัญญาของเด็กจะเจริญงอกงามเหมือนหญ้าแพรกและดอกมะเขือนั่นเอง




ที่มา : http://education.kapook.com/view64510.html

วันศุกร์ที่ 3 มิถุนายน พ.ศ. 2559

พระราชดำรัส พระบรมราโชวาท ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราชทานแก่คณะครู



            . “ ถ้าครูไม่ห่วงประโยชน์ที่ควรจะห่วง หันไปห่วงอำนาจ ห่วงตำแหน่ง ห่วงสิทธิ์ และ  ห่วงรายได้กันมากเข้า ๆ แล้ว จะเอาจิตเอาใจที่ไหน มาห่วงความรู้ ความดี ความเจริญของเด็ก ความ ห่วงในสิ่งเหล่านั้น ก็จะค่อย ๆ บั่นทอนทำลายความเป็นครูไปจนหมดสิ้น จะไม่มีอะไรเหลือไว้ พอที่ตัวเองจะภาคภูมิใจ หรือผูกใจใครไว้ได้ ความเป็นครูก็จะไม่มีค่าเหลืออยู่ให้เป็นที่เคารพบูชาอีกต่อไป ”
        พระราชดำรัสแก่ครูอาวุโส ในโอกาสเข้าเฝ้าฯ วันเสาร์ ที่ ๒๑ ตุลาคม ๒๕๒๑

            ๒. “......ครู ที่แท้จริงนั้นต้องเป็นผู้ทำแต่ความดี คือ ต้องหมั่นขยันและอุตสาหะพากเพียร ต้องเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่และเสียสละ ต้องหนักแน่นอดทน และอดกลั้น สำรวม ระวังความประพฤติปฏิบัติของตน ให้อยู่ในระเบียบ แบบแผนที่ดีงาม รวมทั้งต้องซื่อสัตย์ รักษาความจริงใจ วางใจเป็นกลาง ไม่ปล่อยไปตามอำนาจอคติ…...”
            พระราชดำรัส พระราชทานแก่ครูอาวุโส ๒๘ ตุลาคม ๒๕๒๓

            ๓. “.....ครู จะต้องตั้งใจในความดีอยู่ตลอดเวลา แม้จะเหน็ดเหนื่อย เท่าไรก็จะต้องอดทน เพื่อพิสูจน์ว่าครูนี้เป็นที่เคารพสักการะได้ แต่ถ้าครูไม่ตั้งตัวในศีลธรรม ถ้าครูไม่ทำตัวเป็นผู้ใหญ่ เด็กจะเคารพได้อย่างไร……”
             
พระบรมราโชวาท พระราชทานแก่คณะครู โรงเรียนราษฎร์ทั่วราชอาณาจักร ณ ศาลาผกาภิรมย์ ๘ พฤษภาคม ๒๕๑๓

             ๔. “...ครู นั้นจะต้องให้ความรู้แก่เด็ก ๆ ด้วยความเมตตา ด้วยความหวังดี คือ ด้วยความเมตตาต่อผู้ที่เป็นลูกศิษย์ และด้วยความหวังดีต่อส่วนรวม เพราะถ้าส่วนรวมประกอบด้วยบุคคล ที่มีความรู้ดี ส่วนรวมก็ไปรอด....”
         พระบรมราโชวาท พระราชทานแก่คณะ อาจารย์และนักเรียนโรงเรียนวังไกลกังวล ณ พระราชวังไกลกังวล หัวหิน ๒๗ พฤษภาคม ๒๕๑๓

             ๕. “…… ผู้ ที่เป็น ครู จะต้องนึกถึงความรับผิดชอบ เพราะว่าถ้าเป็นครูแล้ว ลูกศิษย์จะต้องนับถือได้ ต้องวางตัวให้เหมาะสมกับที่เป็นครู ไม่ใช่วางตัวอย่างหนึ่งแล้วมาสอนอีกอย่างหนึ่ง ….”
         พระราชดำรัส พระราชทานเนื่องในวันการศึกษาสัมพันธ์ ณ วิทยาลัยวิชาการศึกษาประสานมิตร ๑๕ มีนาคม ๒๕๑๒

             ๖. “... ผู้ ที่เป็นครูอาจารย์นั้น ใช่ว่าจะมีแต่ความรู้ในทางวิชาการและในทางการสอนเท่านั้นก็หาไม่ จะต้องรู้จักอบรมเด็กทั้งในด้านศีลธรรม จรรยาและวัฒนธรรม รวมทั้งให้มีความสำนึกรับผิดชอบในหน้าที่ด้วย…. ”
         พระบรมราโชวาท ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตร วิทยาลัยวิชาการศึกษา ๑๕ ธันวาคม ๒๕๐๓  
        
             ๗. “...มหาวิทยาลัย มุ่งสั่งสอนนักศึกษาให้เป็นคนเก่ง ซึ่งเป็นการดี แต่นอกจากจะสอนให้เก่งแล้ว จำเป็นอย่างยิ่ง ที่จะอบรมให้ดีพร้อมกันไปด้วย ประเทศเราจึงจะได้คนที่มีคุณภาพพร้อมคือ ทั้งเก่งและทั้งดีมาเป็นกำลัง ของบ้านเมือง….”                
             พระบรมราโชวาท พระราชทานแก่คณะผู้บริหาร และสภาคณาจารย์มหาวิทยาลัยต่าง ๆ ณ ศาลาดุสิดาลัย ๓ ตุลาคม ๒๕๓๓

             ๘. “…… การศึกษาเป็นเครื่องอันสำคัญในการพัฒนา ความรู้ ความคิด
ความ ประพฤติ ทัศนคติ ค่านิยมและคุณธรรมของบุคคล เพื่อให้เป็นพลเมืองดีมีคุณภาพและประสิทธิภาพ เมื่อบ้านเมืองประกอบไปด้วยพลเมืองที่มีคุณภาพและประสิทธิภาพ การพัฒนาประเทศชาติก็ย่อมทำให้ได้โดยสะดวกราบรื่น ได้ผลที่แน่นอนและรวดเร็ว … ”
             พระราชดำรัส พระราชทานแก่ครูใหญ่ และนักเรียน ณ ศาลาดุสิดาลัย พระราชวังดุสิต ๒๒ กรกฎาคม ๒๕๒๐

             ๙. “...งาน ด้านการศึกษาเป็นงานสำคัญที่สุดอย่างหนึ่งของชาติ เพราะความเจริญและความเสื่อมของชาตินั้นขึ้น อยู่กับการศึกษาของพลเมืองเป็นข้อใหญ่ จึงต้องจัดการศึกษาให้เข้มแข็งยิ่งขึ้น....”
             พระบรมราโชวาท ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตร ณ วิทยาลัยวิชาการศึกษาประสานมิตร ๑๒ ธันวาคม ๒๕๑๒



รายการอ้างอิง
 - http://sobkroo.com/detail_room_index.php?nid=2361